สุนัขทรงเลี้ยง

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภเกี่ยวกับทองแดง ไว้ในหนังสือเรื่องทองแดงไว้ตอนหนึ่งว่า “ทองแดงเป็นสุนัขที่ไม่ธรรมดา มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่องความกตัญญูรู้คุณที่มีต่อแม่มะลิ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมักจะทรงยกย่องทองแดงอยู่เสมอว่า ผิดกับคนอื่นที่เมื่อกลายมาเป็นคนสำคัญแล้ว มักจะลืมตัว และดูหมิ่นผู้มีพระคุณที่เป็นคนต่ำต้อย

     ทองแดงเป็นสุนัขที่มีสัมมาคารวะ และมีกิริยามารยาทเรียบร้อย เจียมเนื้อเจียมตัว รู้จักที่ต่ำที่สูง เวลาเข้าเฝ้าฯ จะนั่งอยู่ต่ำกว่าเสมอ แม้จะทรงดึงตัวขึ้นมากอด แต่ทองแดงก็จะทรุดตัวลงหมอบกับพื้น และทำหูลู่อย่างนอบน้อม คล้ายกับแสดงอาการว่า ไม่อาจเอื้อม”

     ทองแดง เป็นสุนัขทรงเลี้ยงที่มีความเฉลียวฉลาด และจงรักภักดี เป็นลูกของ “แดง” สุนัขจรจัดที่อาศัยอยู่ในบริเวณซอยศูนย์แพทย์พัฒนา บริเวณใต้ทางด่วนรามอินทรา เขตวังทองหลาง ซึ่งชาวบ้านในซอยช่วยกันเลี้ยงดูให้อาหารรวมกับสุนัขจรจัดตัวอื่นๆ อีก ๔ ตัว

     ทองแดงถือกำเนิดขึ้นในคืนวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ โดยมีพี่น้องร่วมท้องแม่แดง ๗ ตัว เป็นตัวผู้ ๑ และตัวเมีย ๖ ซึ่งชาวบ้านตั้งชื่อให้ดังนี้ ทองแดง-คาลัว-หนุน-ทองเหลือง (ตัวผู้ตัวเดียว)-ละมุน-โกโร-โกโส ซึ่งชาวบ้านต่างก็ช่วยกันเลี้ยงดูลูกสุนัขทั้ง ๗ ทั้งการหาที่อยู่อาศัย และการป้อนนม ป้อนข้าวให้แก่ลูกสุนัขเหล่านั้น

     ด้วยความที่ “ทองแดง” มีลักษณะพิเศษต่างจากพี่น้องสุนัข คือมีสายสร้อยรอบคอครึ่งเส้น มีถุงเท้าขาวทั้ง ๔ ขา มีหางม้วนและปลายหางดอกสีขาว รวมถึงมีจมูกแด่น ซึ่งลักษณะพิเศษดังกล่าวเหมือนกันกับ “ทองดำ” สุนัขทรงเลี้ยงซึ่งถือกำเนิดหลังทองแดงเพียง ๑ วัน ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสุนัขตัวน้อยไว้เพื่อให้เป็นแฟนกับทองดำพร้อมทั้งพระราชทานชื่อให้ว่า “ทองแดง” โดยทองแดงได้เข้าเฝ้าฯ ถวายตัวเมื่อมีวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๑ ซึ่งขณะนั้น ทองแดงมีอายุได้เพียง ๕ สัปดาห์
ด้วยความที่คุณทองแดงยังเป็นลูกสุนัขอยู่ เมื่อเข้ามาอยู่ที่วังสวนจิตรลดา จึงต้องอาศัยกินนมจากแม่มะลิ สุนัขเทศ ซึ่งเพิ่งให้กำเนิดลูกสุนัขจำนวน ๙ ตัวหลังคุณทองแดง และในบรรดาสุนัขทั้งเก้าตัวนั้น มีคุณทองดำ คู่หมายของคุณทองแดงอยู่ด้วย

     ส่วนพี่น้องของคุณทองแดงที่เป็นตัวผู้เพียงตัวเดียว ได้รับพระราชทานชื่อว่า “ทองเหลือง” และโชคดีได้ไปอยู่บ้านของข้าราชบริพารท่านหนึ่ง ส่วนลูกๆ ตัวอื่นของแดง ก็มีผู้รับไปอุปการะจนหมด ทำให้กลายสถานภาพจาก “สุนัขเร่ร่อน” มาเป็น “สุนัขบ้าน” ทั้งหมด

     วันที่คุณทองแดงเดินทางไปถวายตัวนั้น คุณทองแดงร้องไห้มาตลอดทางจากวังทองหลางมายังวังสวนจิตรลดา แม้ว่าผู้ที่พามาจะทำวิธีอย่างไรก็ไม่หยุดร้องไห้ก็ตามแต่ทันทีที่ได้ถวายตัว คุณทองแดงก็หยุดร้องไห้ แล้วคลานมาซุกที่พระเพลาเหมือนกับจะฝากชีวิตไว้กับพระองค์ จากนั้นก็หลับสนิทที่พระเพลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

     จากลักษณะเด่นของคุณทองแดง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงค้นในหนังสือที่ทรงรำลึกได้ว่าเคยทอดพระเนตร พบว่า คุณทองแดงมีลักษณะบางประการคล้ายคลึงกับสุนัขพันธุ์ “บาเซนจิ” ซึ่งสุนัขพันธุ์นี้ยังไม่ค่อยแพร่หลายในเมืองไทยนัก ในที่สุด พระองค์ทรงพบว่า สุนัขพันธุ์บาเซนจิเป็นสุนัขพันธุ์โบราณ มีถิ่นกำเนิดจากทางแถบแอฟริกาใต้ นิยมใช้งานในการล่าสัตว์ โดยจะมีหน้าที่ในการชี้ตำแหน่งสัตว์ ไล่ต้อนสัตว์ให้ติดตาข่าย และเก็บสัตว์ที่ถูกยิงได้ ซึ่งลักษณะการหมอบอยู่ใต้ที่ประทับของคุณทองแดงเมื่อเข้าเฝ้าฯ คล้ายกันกับรูปหินสลักฟาโรห์ เรนู และราชินี เดเด็ต ที่ปรากฎว่า ใต้ที่ประทับของฟาโรห์ มีสุนัขพันธุ์บาเซนจิหมอบอยู่ด้วย โดยท่าหมอบประจำของคุณทองแดง คือท่าหมอบไขว้มือ

     จากการค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับสุนัขพันธุ์ดังกล่าว ทำให้พระองค์เข้าพระทัยถึงจิตวิทยาในการเลี้ยงดูสุนัขพันธุ์นี้ พร้อมทั้งได้สอนและแสดงให้พี่เลี้ยง ตลอดจนครูฝึกได้ทราบว่า ควรจะปฏิบัติอย่างไรกับสุนัขพันธุ์บาเซนจิ

     ลักษณะเด่นของสุนัขพันธุ์บาเซนจิคือ ไม่เห่า ไม่มีกลิ่นตัว มีท่วงท่าสง่างาม ซึ่งคุณทองแดงมีขนาดตัวใหญ่กว่าสุนัขพันธุ์บาเซนจิทั่วไป พระองค์จึงทรงเรียกคุณทองแดงว่าเป็นสุนัขพันธุ์ไทยซูเปอร์บาเซนจิ

     คุณทองแดงนับว่าเป็นสุนัขที่ฉลาดและรู้ภาษามาก ไม่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะรับสั่งกับคุณทองแดงอย่างไร ก็จะรู้เรื่องและทำตามทุกอย่าง

     แม้ว่าคุณทองแดงจะถูกหมายให้เป็นคู่กับคุณทองดำ แต่คู่ที่แท้จริงของคุณทองแดง กลับเป็นคุณทองแท้ สุนัขพันธุ์บาเซนจิ ซึ่งทั้งคู่ได้ให้กำเนิดสุนัข ๙ ตัวเมื่อ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๓ โดยมีชื่อเรียงกันดังนี้ ทองชมพูนุท-ทองเอก-ทองม้วน-ทองทัต-ทองพลุ-ทองหยิบ-ทองหยอด-ทองอัฐ และทองนพคุณ

     ความสามารถพิเศษของคุณทองแดงคือ สามารถใช้โทรจิต เรียกสุนัขตัวอี่นๆ ให้มาเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ปรากฎให้เห็นหลายครั้ง โดยคุณทองแดงจะเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในระยะใกล้ชิดกับพระองค์เสมอ ในขณะที่สุนัขทรงเลี้ยงตัวอื่น มักจะหลบมุม หรือวิ่งเล่นไปในบริเวณอื่นที่อยู่ห่างจากสายพระเนตร เมื่อถึงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้คุณทองแดงไปตามสุนัขทรงเลี้ยงตัวใดมาก็ตาม คุณทองแดงก็เพียงแต่ลุกขึ้นยืนในระยะที่ไม่ห่างจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนัก แล้วส่งโทรจิต ตามสุนัขทรงเลี้ยงที่พระองค์รับสั่งมา สักพัก สุนัขทรงเลี้ยงตัวนั้นก็จะวิ่งมาหาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

     นอกจากเรื่องการส่งโทรจิตของคุณทองแดงแล้ว ยังมีความสามารถในเรื่องของการรู้เวลา ซึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชภารกิจใดนานเกินเวลาที่จะเสด็จกลับพระตำหนัก คุณทองแดงจะเดินเข้าไปใกล้ๆ แล้วเลียพระหัตถ์หลายครั้ง เป็นสัญญาณเตือนว่า เลยเวลาที่จะเสด็จขึ้นพระตำหนักไปมากแล้ว ซึ่งพระองค์มักจะรับสั่งกับผู้ที่เข้าเฝ้าฯ เสมอว่า “ทองแดงมาตามกลับแล้ว”

     อีกเรื่องหนึ่งคือความสามารถในการเก็บและปอกมะพร้าว คุณทองแดงมักจะเก็บมะพร้าวจากต้นที่ขึ้นอยู่ริมทะเลหน้าพระตำหนักอยู่เสมอ เมื่อจะเก็บก็จะยืนสองขา แล้วใช้ขาหน้าจับลูกมะพร้าวหมุนแบบเดียวกับลิงเก็บมะพร้าว เมื่อลูกมะพร้าวหล่นลงมาแล้ว ก็จะใช้ขาหน้าเหยียบลูกมะพร้าวไว้ แล้วใช้ฟันฉีกเปลือกมะพร้าวทีละชิ้นจนฉีกถึงกะลา แล้วเจาะตามะพร้าวเลียน้ำมะพร้าว ซึ่งคุณทองแดงได้สอนวิธีเก็บและปอกมะพร้าวให้กับลูกๆ และน้องๆ ด้วย แต่ก็ไม่มีสุนัขตัวใดอดทนได้เท่ากับคุณทองแดง

     คุณทองแดงปฏิบัติหน้าที่เป็นเสมือนองครักษ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างเคร่งครัดมาก เช่น เมื่อมีผู้มาเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูู่่หัว คุณทองแดงจะหมอบเฝ้าฯ อยู่ที่พระบาทไม่วิ่งไปไหน และจะหมอบขวางอยู่ระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับผู้ที่มาเข้าเฝ้าฯ หากระยะเวลาในการเข้าเฝ้าฯ นาน คุณทองแดงจะเงยหน้าขึ้นมองพระพักตร์และผู้มาเข้าเฝ้าฯ พร้อมกับถอนใจยาว แต่ก็ไม่ลุกไปไหน ยังคงหมอบเฝ้าอยู่เช่นนั้น

     หรือเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับพักผ่อนพระอิริยาบถในที่ใดๆ หากคุณทองแดงเป็นเวรตามเสด็จ จะวิ่งนำหน้าลาดตระเวนไปก่อน และเมื่อพระองค์หยุดนั่งอยู่ที่ใด คุณทองแดงก็จะเฝ้าฯ อยู่ใกล้ๆ หันหน้าไปด้านนอก ไม่ได้เข้ามาคลอเคลียพระองค์ท่านเหมือนกับสุนัขทรงเลี้ยงตัวอื่น และคุณทองแดงจะได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกครั้ง หลังจากที่ครั้งหนึ่ง ไม่ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งไปทรงงานที่สวนจิตรฯ นานไปหน่อย ทำให้คุณทองแดงเครียดเพราะคิดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงกับล้มป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล

     คุณทองแดงเป็นสุนัขที่กตัญญูรู้คุณเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับแม่มะลิ ซึ่งเป็นเสมือนแม่นมของคุณทองแดง ที่แม้เมื่อแยกกันอยู่แล้ว ทุกครั้งที่คุณทองแดงพบกับแม่มะลิ จะแสดงความเคารพแม่มะลิอยู่เสมอ

     คุณทองแดง เป็นสุนัขตัวที่ ๑๗ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อมาครอบครัวของคุณทองแดง ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "สุวรรณชาด"

Download VDO Clip คุณทองแดงว่ายน้ำ ๑ (๑๔ Mb.)
Downlaod VDO Clip คุณทองแดงว่ายน้ำ ๒ (๑๑ Mb.)


สรุปรายนามสุนัขทรงเลี้ยง

ชื่อ ลูกของใคร ลักษณะเด่น
แม่มะลิ สุนัขพันธุ์ทาง เพศเมีย สีขาว
สุดหล่อ เพศผู้ สุนัขพันธุ์ดัลเมเชี่ยน
คุณทองดำ แม่มะลิ+สุดหล่อ เพศผู้ สีดำ ท้องขาว ถุงเท้าขาว ๔ ขา หางม้วน หางดอกสีขาว
คุณทองแท้ สุนัขพันธุ์บาเซนจิ เพศผู้ สีน้ำตาลแก่
คุณทองแดง คุณนายแดง เพศเมีย สีน้ำตาลแก่ มีสายสร้อยรอบคอครึ่งเส้น ถุงเท้าขาว ๔ ขา หางม้วนหนึ่งรอบครึ่ง ปลายหางดอกสีขาว จมูกแด่น
คุณทองหลาง คุณนายด่าง เพศเมีย สีขาว หน้าด่างน้ำตาลและดำ หางสีน้ำตาลปลายหางดอกสีขาว เกิดเมื่อ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๒ บริเวณใต้ถุนคลีนิกศูนย์แพทย์พัฒนา มีพี่น้องร่วมท้อง ๖ ตัว ได้เข้ามาถวายตัวเมื่อ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ คุณทองหลางเป็นสุนัขที่มีความจงรักภักดีสูงมาก จะเห่าเสียงดัง หากมีคนแปลกหน้าเข้าใกล้ ชอบขนมทุกชนิด อ้อนเก่ง ประจบเก่ง
คุณทองชมพูนุท คุณทองแดง+คุณทองแท้ เพศเมีย สีน้ำตาลแก่ สีขาวรอบจมูก มีขีดขาวที่หน้าผากครึ่งคอซ้ายกว้าง ครึ่งคอขวาแคบ
คุณทองเอก เพศผู้ สีน้ำตาลแก่ ขีดขาวขวางเล็ก มีถุงเท้ายาว ๒ ขาหน้า สั้นขาหลัง หางมีจุดขา
คุณทองม้วน เพศผู้ สีน้ำตาลแก่ ครึ่งคอซ้าย หางจุดขาว
คุณทองทัต เพศผู้ สีน้ำตาลแดงเกลี้ยง มีจุดขาวเหนือจมูก ถุงยาวที่ขาหน้าซ้าย สั้นขาหน้าขวา ขาหลัง หน้าอกขาว หางมีจุดขาว
คุณทองพลุ เพศผู้ สีดำ มีขีดขาวขวาง ถุงยาว ๒ ขาหน้า หางจุดเล็ก
คุณทองหยิบ เพศผู้ สีน้ำตาลแก่ จมูกจุดขาวขึ้นเป็นเปลวบนหน้าผาก ครึ่งคอซ้ายลงไปทางท้าย ขวาขึ้นบนหัว หางจุดขาวยาว
คุณทองหยอด เพศเมีย สีน้ำตาลแก่ จมูกจุดขาวขึ้นเป็นเปลวบนหน้าผาก ต่อไปหลังหัว ต่อไปที่คอลงทางขวา หางจุดขาวยาว ถุงยาว
คุณทองอัฐ เพศเมีย สีน้ำตาลดำ จมูกจุดขาวขึ้นเป็นเปลวบนหน้าผาก รอบคอ ถุงยาว
คุณทองนพคุณ   เพศผู้ สีดำ (สามสี) จมูกจุดขาวขึ้นเป็นจุดกว้างบนหน้าผาก คอแคบ ทางซ้ายกว้างออกไปทางขวา ลูกศรขึ้นบนหัว ถุงยาว หางจุดขาวยาว


พระราชประวัติ
สัตว์เลี้ยงในพระราชวัง
ช้างเผือกคู่พระบารมี
 
 
 
 
 
 
 
 

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร